Category Archives: ฟาร์มมหาวิทยาลัย

ข้อเท็จจริงของอุตสาหกรรมการผลิตสุกรในปัจจุบัน

5ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งของอุตสาหกรรมการผลิตสุกรในปัจจุบัน คือ ภาวะราคาแกว่งตัวอย่างรุนแรงของสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม เช่น ช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ปี 2554 มีค่าต่างของราคาต่ำสุดและสูงสุดของสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มถึงกิโลกรัมละ 30 บาท ทำให้เกษตรกรบางรายขาดทุน ซึ่งคล้ายกับการขึ้นลงของดัชนีตลาดหุ้น จึงมีคำถามต่อมาว่าหลังจากนี้ไปเสถียรภาพของราคาสุกรจะเป็นอย่างไรในมุมมองของผู้เขียนมีความเห็นว่า สุกรมีชีวิตเป็นสินค้าที่ เรียกว่า สินค้า Commodity ซึ่งจะมีความผันแปรทางราคารุนแรง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของตลาด ซึ่งอาจมีทั้งความต้องการที่แท้จริง, การอุปโลกและขึ้นอยู่กับการเข้าตลาดของผู้ซื้อและผู้ขายรายใหญ่ ดังนั้นเราจะอยู่รอดได้อย่างใรภาวะที่ตลาดมีผลกระทบอย่างรุนแรง

โดยข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งของการเป็นผู้ผลิต คือ ต้องทำอย่างไรให้ต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดและมีความคงที่ เพื่อสามารถสู้กับภาวะราคาขายปลายทาง ซึ่งมีความผันแปรสูง ทำให้ผู้ผลิตยังคงความสามารถในการแข่งขัน แต่การผลิตสุกรต่างจากการผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพราะสุกรเป็นสิ่งมีชีวิต ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความคงที่ และต้นทุนของการผลิต   ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความขัดแย้งกันเพราะ ความหมายเชิงอุตสาหกรรมอื่น  การทำให้ต้นทุนต่ำสุด คือ การซื้อปัจจัยการผลิตให้ได้ราคาต่ำที่สุดและมีปริมาณคงที่ จะสามารถทำให้ต้นทุนต่ำสุดและคงที่ได้

แต่ในทางกลับกันในการผลิตสุกรหากใช้ปัจจัยการผลิตที่มีราคาต่ำ อาจจะส่งผลให้เกิดความเสียหาย จากปัญหาเกี่ยวกับโรคและการจัดการ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนมีการผันแปรสูง ทำให้เกิดความเสี่ยงเมื่อขายสุกรราคาต่ำกว่าทุน ช่วงที่ผลิตสุกรได้ในจำนวนมาก และในทางตรงกันข้าม เมื่อขายสุกรที่ได้ราคาสูงกว่าทุนในช่วงที่ผลิตสุกรได้น้อย ดังนั้นในมุมมองของผู้เขียน การผลิตสุกร ความหมายของคำที่ว่าการได้ต้นทุนต่ำสุด น่าจะให้น้ำหนักกับการควบคุมปัจจัยการผลิตให้คงที่ มากกว่าการใช้ปัจจัยการผลิตในราคาต่ำที่สุด ทางผู้เขียนจึงขอนำเสนอมุมมองเชิง HACCP ในการควบคุมจุดวิกฤตในการผลิตสุกร เพื่อประสิทธิภาพที่คงที่และต้นทุนที่แข่งขันในตลาดได้ โดยนำเสนอเฉพาะปัจจัยด้านของอาหารและการจัดการ เพื่อลดปัญหาการสูญเสียของสุกร เนื่องจากโรคแทรกซ้อนที่มาจากการจัดการและการให้อาหารผิด

มาตรฐานฟาร์มโคนมและการผลิตน้ำนมในปัจจุบันนี้

17มาตรฐานฟาร์มโคนมและการผลิตน้ำนมดิบนี้ กำหนดเป็นมาตรฐานเพื่อให้ฟาร์มโคนมที่ต้องการขึ้นทะเบียน รับรองว่าเป็นฟาร์ม โคนมที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ได้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติด้านการจัดการฟาร์ม ซึ่งมาตรฐานนี้เป็นเกณฑ์ขั้นพื้นฐานสำหรับฟาร์มโคนมที่ จะได้รับการรับรอง มาตรฐานฟาร์มโคนมและการผลิตน้ำนมดิบนี้ กำหนดวิธีปฏิบัติด้านฟาร์ม การจัดการฟาร์ม สุขภาพโคนม การเก็บรักษาน้ำนมดิบ และการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ได้น้ำนมที่ถูกสุขลักษณะและเหมาะสมสำหรับผู้บริโภค ฟาร์มโคนม หมายถึง ฟาร์มเพาะเลี้ยงโคนม เพื่อผลิตโคนมและน้ำนมดิบ การผลิตน้ำนมดิบ หมายถึง การผลิตนมอย่างมีประสิทธิภาพ ได้นมที่บริสุทธิ์ คุณภาพสูงตามความต้องการของผู้บริโภค และ สามารถทำรายได้ดีให้กับเกษตรกร

องค์ประกอบของฟาร์มโคนม ทำเลที่ตั้งของฟาร์มโคนม อยู่ในบริเวณที่การคมนาคมสะดวก สามารถป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคจากภายนอกเข้าสู่ฟาร์มได้ อยู่ห่างจากชุมชน โรงฆ่าสัตว์ ตลาดนัดค้าสัตว์ และเส้นทางที่มีการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ อยู่ในทำเลที่มีแหล่งน้ำสะอาด ตามมาตรฐานคุณภาพน้ำใช้ เพื่อการบริโภคอย่างเพียงพอตลอดปี ควรได้รับความยินยอมจากองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น เป็นบริเวณที่ไม่มีน้ำท่วมขัง เป็นบริเวณที่โปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี มีต้นไม้ให้ร่มเงาในฟาร์มโคนม และแปลงหญ้าพอสมควร

ลักษณะของฟาร์มโคนม เนื้อที่ของฟาร์มโคนม ต้องมีเนื้อที่เหมาะสมกับขนาดของโรงเรือนและการอยู่อาศัยของโคนม การจัดแบ่งพื้นที่ ต้องมีเนื้อที่กว้างขวางเพียงพอ สำหรับการจัดการแบ่ง การก่อสร้างอาคารโรงเรือนอย่างเป็นระเบียบ สอดคล้องกับการ ปฏิบัติงานและไม่หนาแน่น จะไม่สามารถจัดการด้านการผลิตสัตว์ การควบคุมโรคสัตว์ สุขอนามัยของผู้ปฏิบัติงาน และการรักษาสิ่งแวดล้อม ได้ ตามหลักวิชาการ ฟาร์มโคนมจะต้องมีการแบ่งบริเวณพื้นที่เป็นสัดส่วน โดยมีผังแสดงการจัดวางที่แน่นอน บ้านพักอาศัยและอาคารสำนักงาน อยู่ในบริเวณอาศัยโดยเฉพาะ ไม่มีการเข้าอยู่อาศัยในบริเวณโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ บ้านพักต้องอยู่ในสภาพแข็งแรง สะอาด เป็นระเบียบไม่สกปรกรกรุงรัง มีปริมาณเพียงพอกับจำนวนเจ้าหน้าที่ ต้องแยกห่างจากบริเวณเลี้ยงสัตว์พอสมควร สะอาด ร่มรื่น มีรั้วกั้น ไม่ควรให้สัตว์เลี้ยงที่อาจเป็นพาหะนำโรคเข้าไปในบริเวณเลี้ยงโคนม ลักษณะโรงเรือนที่จะใช้เลี้ยงโคนม ควรมีขนาดที่เหมาะสมกับจำนวนโคนมที่เลี้ยง ถูกสุขลักษณะและอยู่สุขสบาย

รูปแบบของการเลี้ยงโคเนื้อพันธุ์แท้คุณภาพดีในปัจจุบัน

15

ปัจจุบันรูปแบบวิธีการเลี้ยงและจุดประสงค์ในการเลี้ยงได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา มีการเพิ่มการจัดการฟาร์ม การปรับปรุงพันธุ์เข้ามาผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นได้อย่างลงตัว เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและลดปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาในการเลี้ยงดู ภายใต้เงื่อนไขปัจจัยที่มีอยู่อย่างจำกัด ทั้งด้านที่ดิน แรงงาน อาหาร และเงินทุน ในที่นี้ผู้เขียนใคร่ขอนำเสนอข้อมูลเกร็ดความรู้และการจัดการฟาร์มโคเนื้อเบื้องต้น เพื่อที่พี่น้องชาวโคบาลจะสามารถนำไปจัดการประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสมและพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยอ้างอิงจากหลักวิชาการกอปรกับคำอธิบายที่เข้าใจง่ายที่สุดตามประสาคนเลี้ยงวัว

การเลี้ยงโคในต่างประเทศนั้นได้พัฒนาล้ำหน้าบ้านเราไปมากแล้ว ทั้งด้านการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ วิทยาการเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย มีจุดประสงค์เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมเนื้อที่เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นหลัก ด้วยข้อได้เปรียบทางด้านพื้นที่ในการเลี้ยงที่มีอยู่อย่างมหาศาล ทำให้มีต้นทุนในการผลิตต่ำและได้ผลตอบแทนสูง ตรงกันข้ามกับบ้านเราที่มีพื้นที่ในการเลี้ยงที่จำกัดและวัตถุดิบในการเลี้ยงสัตว์ที่หายากและมีราคาสูงขึ้นทุกวัน เกษตรอย่างเราๆ ก็ควรเลือกรูปแบบและวิธีการเลี้ยงให้เหมาะสมกับกำลังความสามรถของตนเองเป็นสำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงในการขาดทุน โดยจะแบ่งรูปแบบการเลี้ยงโคตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ดังนี้

ผู้เลี้ยงโคพ่อ แม่พันธุ์ในสมัยนี้ไม่จำเป็นจะต้องใช้พื้นที่มากมายเหมือนในอดีต ต้นทุนจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับการจัดการฟาร์ม ทั้งด้านอาหาร แปลงหญ้า สุขภาพสัตว์ และจุดมุ่งหมายในการเลี้ยงเป็นหลัก การเลี้ยงต้องใช้ระยะเวลา 2-5 ปี (เงินเย็น) ถึงจะคืนทุน โดยจะแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย 2 กลุ่ม คือ ผู้เลี้ยงโคพันธุ์แท้คุณภาพดี ส่วนใหญ่จะเลี้ยงพันธุ์แท้หรือสายประกวดเป็นหลัก โดยเน้นหนักไปที่ฝูงแม่พันธุ์อาจจะมี 10 – 20 ตัว น้อยหรือมากกว่านั้นก็ได้แล้วใช้น้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์ชั้นดีมาผสมเทียม เพื่อผลิตลูกโคพันธุ์แท้ออกสู่ตลาด บางทีอาจจะเลี้ยงพ่อพันธุ์ไว้สำหรับขึ้นผสมจริงหรือผลิตน้ำเชื้อแช่แข็งเพื่อจำหน่ายด้วยก็ได้ ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายต้องมีเงินทุนพอสมควรเพราะว่าโคในกลุ่มนี้มีราคาค่อนข้างแพง เพื่อความสบายใจและป้องกันการถูกย้อมวัวขาย ในการซื้อ ขายทุกครั้งควรขอใบผสมเทียมหรือใบพันธุ์ประวัติที่มีหน่วยงานรัฐหรือสมาคมของโคพันธุ์นั้นๆ รับรองมาด้วยเสมอ

ฟาร์มโคนมกับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

นมเป็นเครื่องดื่มที่ดีสำหรับร่างกายของคนเรา ไม่ว่าประเทศไหนในโลกนี้ต่างก็ดื่มนม ไม่ว่าจะเป็นนมที่ผลิตจากธัญพืช หรือ นมวัว จากวัวในประเทศไทยของเราเองก็ผลิตจากฟาร์มโคนมและน้ำนมถั่วเหลืองและน้ำนมข้าวโพดแต่หลักๆแล้วก็ผลิตจากโคนมนะครับ ในประเทศไทยฟาร์มโคนมมีอยู่หลายที่ ยกตัวอย่างเช่น ฟาร์มโชคชัย ฟาร์มโคนมพัทลุง ฟาร์มโคนมเชียงราย ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ก(สระบุรี) สำหรับผู้ผลิตรายใหญ่จะผลิตนมออกจำหน่ายในแบรนด์หรือชื่อของตนเองแต่ฟาร์มเล็กอย่างเกษตรกรเลี้ยงโนนมรายย่อยจะออกมาในรูปแบบการขายน้ำนมดิบให้โรงงานหรือมีการตั้งสหกรณ์โคนมขึ้นมาในพื้นที่เพื่อนำน้ำนมดิบมาผลิตภายในกลุ่มแบบนี้สามารถที่จะเพิ่มการต่อรองราคาได้ดี ไม่ต้องผ่านคนกลาง

การคัดสายพันธุ์เพื่อ การเลี้ยงโคนม ฟาร์มใหญ่ๆจะสามารถมีทางเลือกได้ดีกว่าชาวบ้านทั่วไปแต่หากเราเพิ่งเริ่มในธุรกิจนี้สามารถเข้าไปขอคำแนะนำจากเกษตรจังหวัดที่ท่านอาศัยอยู่ได้นะ มีข้อมูลอยู่แน่นอน ปรึกษาได้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง เป็นหน้าที่ของเขาที่ให้บริการประชาชน เพราะท่านไม่สามารถที่จะผลิตน้ำนมดิบได้โดยไม่มีมาตรฐานโดยมีองค์ประกอบเบื้องต้นได้แก่ การคมนาคมขนส่งสะดวก ห่างจากพวกโรงฆ่าสัตว์เพราะเป็นแหล่งที่อาจจะแพร่เชื้อโรคมาปนเปื้อนได้ มีพื้นที่หรือแปลงหญ้าพอสมควร การการจัดโรงเรือนของการเลี้ยงโคนมก็เช่นเดียวกันควรมีอากาศที่ถ่ายเทสะดวก มีความสะอาด ไม่มีความชื้นเพราะจะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค สำหรับฟาร์มใหญ่ๆต้องมีสัตวแพทย์ประจำด้วยเพื่อควบคุมดูแล โดยสัตวแพทย์ต้องมีใบอนุญาต ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่ง และได้รับใบอนุญาตควบคุมฟาร์มโคนมจากกรมปศุสัตว์อีกด้วยสามารถหาอ่านได้ในหนังสือเกี่ยวกับการจัดการโคนม หาซื้อได้ทั่วไปจากร้านหนังสือหรือเข้าไปขอข้อมูลที่รับผิดชอบได้เช่นเดียวกัน ซึ่งหากจะพูดทุกรายละเอียดคงจะไม่ไหวเพราะจะมีอีกมากมายทั้งเรื่อง สิ่งแวดล้อม ขั้นตอนการผลิต การเก็บรักษาน้ำนมดิบ การบรรจุลงถัง การขนส่ง ฯลฯ ปัจจุบันนี้ ฟาร์มโคนม ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรไปอีกแล้วด้วย

ความนิยมท่องเที่ยวแบบนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เป็นช่องทางที่เป็นผลประโยชน์ทางอ้อมเกษตรกร หากใครคิดจะประกอบอาชีพเลี้ยงโคนมผมเองมองว่าเป็นช่องทางที่ยังสดใสและยังเปิดกว้างอยู่มากเลย แม้ว่าจะมีการเปิดการค้าเสรีอย่างกับออสเตรเลียจะมีการตีตลาดนมจากประเทศนี้ก็ตามเชื่อว่าหากแข่งกันที่คุณภาพไม่ใช่ปัญหาและเป็นสิทธิของผู้บริโภคไม่ใช่หรือที่จะเป็นผู้เลือก เราทำดีมีคุณภาพยังไงคนไทยก็ดื่มนมของเราอย่างแน่นอ

การเลือกสถานที่ให้เหมาะสมกับลักษณะเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการสร้างฟาร์ม

19

ปัจจุบันฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากสามารถทดแทนส่วนที่สูญเสียทรัพยากรสัตว์น้ำจากธรรมชาติ มีความสำคัญมากต่อโภชนาการและเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันรายได้หลักจากการส่งสินค้าสัตว์น้ำ มาจากฟาร์มเพาะเลี้ยงฯมากกว่าจากการจับจากธรรมชาติ จึงมีความสำคัญต่อการสร้างอาชีพและรายได้ อนึ่งการสร้างฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ต้องคำนึงถึงข้อมูลเกี่ยวกับหลักการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่กล่าวไว้ในบทต้น ๆ และมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องพิจารณาคำนึงถึง อันได้แก่

การเลือกสถานที่ต้องเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการสร้างฟาร์ม หากคัดเลือกพื้นที่ได้เหมาะสมแล้ว การจัดการ การดูแลรักษาจะง่ายขึ้น และจะประสบผลสำเร็จได้ไม่ยาก ปัจจัยต่าง ๆ ที่ต้องพิจารณา เช่น สภาพพื้นที่ ควรมีลักษณะภูมิประเทศที่มีเชิงลาดกว้าง เมื่อสร้างบ่อก็สามารถที่จะนำน้ำมาใช้และระบายน้ำทิ้งได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องสูบน้ำ พื้นที่ดังกล่าวที่เป็นที่ราบ ทุ่งนา มี ลำคลองชลประทานใหญ่และคลองซอยส่งน้ำ มีอยู่เป็นจำนวนมากในเขตชลประทาน บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ เช่น อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ อ่างเก็บน้ำอูน และอ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นเพื่อชลประทาน

สภาพพื้นที่ลำดับรองลงมาที่สมควรพิจารณาเลือก ได้แก่ บริเวณพื้นที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ซึ่งสามารถจะสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้สม่ำเสมอตลอดปี และไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วม พื้นที่ในเขตเกษตรน้ำฝนในภูมิภาคนี้ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากก็สามารถจะเลือกเป็นที่ขุดบ่อเลี้ยงปลาได้ โดยพิจารณาในพื้นที่เอียงลาด เมื่อมีฝนตกลงมาน้ำฝนก็จะไหลบ่าจากที่สูงบริเวณรับน้ำ ลงมาข้างล่าง ส่วนขนาดของบ่อนั้นขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำฝนและปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา โดยปกติเนื้อที่แหล่งรับน้ำฝน 5 – 10 ไร่ จะรับน้ำฝนได้เพียงพอสำหรับขุดบ่อเลี้ยงปลาขนาด 1 ไร่ ซึ่งจะมีน้ำเลี้ยงปลาในช่วงฤดูฝนระยะเวลาประมาณ 4 – 6 เดือน และหากพื้นที่รับน้ำมีลักษณะเป็นป่าไม้ ซึ่งสามารถดูดซับน้ำฝนตกลงมาได้มาก ขนาดของบ่อปลาก็ต้องปรับตามความเหมาะสม

การคมนาคม จำเป็นต้องมีถนนหรือแม่น้ำลำคลองเข้าออกฟาร์ม เพื่อลำเลียงปัจจัยการผลิตและผลผลิตเวลาจับจำหน่ายด้านสาธารณูปโภคและการสาธารณสุข ไฟฟ้า น้ำประปา สุขอนามัย มีส่วนช่วยให้การดำเนินงานฟาร์มมีประสิทธิภาพมากขึ้น เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงด้านสังคมความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนแรงงานสามารถหาได้ง่าย ความปลอดภัยจากการป้องกันการสูญเสีย เนื่องจากการลักขโมยผลผลิต ก็เป็นสิ่งที่ต้องป้องกันในฟาร์มสัตว์น้ำสามารถจัดหาแหล่งอาหารสัตว์น้ำได้ไม่ลำบากมากเกินไป