การลงทุนทำธุรกิจฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าให้ได้ผลดี

1367569280
ฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำในประเทศไทยสามารถแบ่งออกได้ คือ การทำเป็นอาชีพหลักและอาชีพรอง ขนาดของฟาร์มที่ทำเป็นอาชีพมักมีขนาดใหญ่แบบครบวงจรหรือไม่ครบวงจร ซึ่งขึ้นอยู่กับงบประมาณของเจ้าของว่ามีความสามารถเพียงใด เพราะก่อนที่จะทำการเลี้ยงสัตว์ชนิดใด จำเป็นจะต้องทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องเสียก่อน เป็นต้นว่าสถานที่สำหรับทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำบริเวณนั้นเหมาะสมสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำประเภทไหน จึงจะคุ้มค่าต่อการลงทุน อาหารที่จะใช้เลี้ยงสัตว์น้ำนั้นหาง่ายหรือหายาก ตลาดทั้งไทยและต่างประเทศเป็นอย่างไร ราคาที่ขายกันตามท้องตลาดสูงต่ำแค่ไหน การลงทุนซื้อพ่อแม่พันธุ์หรือลูกพันธุ์มาเลี้ยง ตลอดจนอุปนิสัยของสัตว์น้ำแต่ละชนิดว่าเป็นอย่างไร เป็นต้น

สัตว์น้ำโดยเฉพาะปลาเป็นอาหารโปรตีนที่ให้คุณค่าทางโภชนาการที่ดี ราคาถูก ในกลุ่มประเทศแถบเอเซียโดยเฉพาะประเทศไทย ปลาเป็นอาหารคู่กับข้าวมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนปัจจุบันสัตว์น้ำยังเป็นสินค้าส่งออกทำรายได้ให้กับประเทศไทยปีละหลายหมื่นล้านบาท ในอดีตแหล่งน้ำในธรรมชาติ คือ แม่น้ำ ลำคลอง อ่างเก็บน้ำ หนองบึง หรือในทะเลมีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์มาก เนื่องจากสภาพแวดล้อมดีและประชากรก็มีไม่มาก แต่ในปัจจุบันการจับสัตว์น้ำจากธรรมชาติมีความไม่แน่นอนและมีแนวโน้มที่ลดลง เนื่องจากสภาพแวดล้อมและแหล่งต้นน้ำลำธารถูกทำลาย การจำกัดพื้นที่ทำการประมง ประกอบกับประชากรมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก อาศัยสัตว์น้ำที่จับจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจึงมีบทบาทสำคัญต่อมนุษย์ทั้งในด้านอาหารและด้านเศรษฐกิจ

การจัดการฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์นํ้าให้เกิดผลสำเร็จและพัฒนาไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีขั้นตอนการวางแผน การสั่งการ การควบคุม และการประเมินผลเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ การจัดการที่ดีนั้นนอกจากจะต้องเริ่มต้นด้วยการวางแผนที่ดีแล้ว จำเป็นจะต้องใช้ดุลพินิจในการใช้ทรัพยากรทุกอย่างรวมทั้งบุคลากร ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อทำกำไรหรือหารายได้ให้ได้สูงสุด นอกจากนี้จะต้องหาทางลดต้นทุนการผลิตเพื่อสามารถแข่งขันในเชิงการค้ากับผู้อื่นในด้านตลาดได้ ควรเริ่มต้นจากการตลาดเพื่อจะได้ทราบว่าจะลงทุนเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดไหนที่ตลาดยังมีความต้องการ เมื่อเลือกชนิดของสัตว์น้ำได้แล้วขั้นต่อไปก็คือการวางแผนในการผลิตให้เหมาะสม เงินลงทุนทั้งหมดที่จำเป็นต้องใช้ ตลอดจนการบริหารงานฟาร์มโดยทั่วๆไป

วัตถุประสงค์ของการจัดทำมาตรฐานฟาร์มสัตว์น้ำ

1.เพื่อปรับปรุงระบบการเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทยให้เป็นรูปแบบมาตรฐานเดียวกันและมีคุณภาพ
2.เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยในการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์จากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ได้รับการรับรองเป็นฟาร์มมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์
3.เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าแก่ผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ส่งออก
4.เพื่อลดมลภาวะจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
5.เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุม ป้องกันและกำจัดโรคในฟาร์มเลี้ยงสัตว์